เมื่อเป็นโรคปริทันต์.. แล้วรักษาอย่างไร??
วิธีการรักษาโรคปริทันต์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
เนื่องจากโรคปริทันต์เป็นโรคที่เรื้อรัง ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อบุคลิกภาพ ร่างกายและจิตใจ การป้องกันมิให้เกิดโรคปริทันต์ จึงเป็นวิธีที่ดีและง่ายที่สุด แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยจะต้องรักษาทันตสุขภาพให้ดี โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี หมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อว่าทันตแพทย์จะได้ทำการตรวจช่องปากอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจพบการเป็นโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การรักษาทันท่วงทีก่อนที่โรคจะลุกลาม หรือรุนแรงขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคและมีอาการอยู่แล้ว การรักษาเชิงป้องกันยังมีความสำคัญ เพราะถือว่าการป้องกันดังกล่าวเป็นการช่วยเสริมให้การรักษาของทันตแพทย์ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้การหายของเหงือกเร็วขึ้น และป้องกันไม่ให้ลุกลามหรือเสียหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่
การรักษาขึ้นพื้นฐานได้แก่ การขูดหินน้ำลาย การเกลารากฟัน เพื่อกำจัดปัจจัยที่เป็นสาเหตุและการขัดผิวฟันให้เรียบ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น โดยหลังจากการรักษาแล้ว เนื้อเยื่อปริทันต์ต่างๆ จะสามารถกลับเข้าสู่สภาพปกติหรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น
ผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์อักเสบจะมีการทำลายหรือสูญเสียอวัยวะปริทันต์ไปมากน้อยแล้วแต่ความรุนแรงหรือระยะของโรค ทำให้ช่องเหงือกลึก ซึ่งทำความสะอาดได้ยาก การรักษาขึ้นพื้นฐานอาจไม่เพียงพอ ต้องใช้การรักษาอื่นๆ เช่น การผ่าตัดเหงือกและอาจต้องแต่งกระดูกเบ้าฟันร่วมด้วย ซึ่งเป็นการกำจัดรอยโรคที่มีอยู่ให้น้อยลง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดและรักษาดูแลได้ด้วยตนเองเป็นอย่างดี
หากมีรอยโรคลุกลามบริเวณร่องรากฟันกราม การแก้ไขความผิดปกติอาจรักษาบริเวณช่องระหว่างรากฟันให้สะอาดและเปิดกว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้แปรงซอกฟันเข้าไปทำความสะอาดได้สะดวกยิ่งขึ้นมากกว่าที่จะพยายามทำการผ่าตัดเพื่อเสริมกระดูกและเหงือกให้มาปิดร่องรากฟันกรามนั้น
ที่มา : หนังสือปวดฟัน ฟันผุ ดูแลรักษาโรคเกี่ยวกับฟันและเหงือก เรียบเยงโดย ทพ.รชฎ วัชระวาณิช